เคมี ... ใครบอกว่าไกลตัว ?

เคมี (Chemistry) เป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical science) แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับสสาร การจัดเรียงตัว สมบัติ และการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงอันตรกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างสสาร หรือกับสิ่งที่ไม่ใช่สสาร (เช่น พลังงาน)

บางครั้ง วิชาเคมีก็ถูกเรียกว่าเป็น "วิทยาศาสตร์ศูนย์กลาง" (Central science) เนื่องจากเป็นวิชาที่ช่วยเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสารเคมีและกระบวนการทางเคมีจึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางกายภาพและชีวภาพที่หลากหลาย เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจจักรวาลทางกายภาพที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับเคมี

วิชาเคมี ยังสามารถแบ่งออกเป็นสาขาย่อย ๆ ได้อย่างหลากหลาย อาทิ เคมีวิเคราะห์ (Analytical Chemistry), ชีวเคมี (Biochemistry), เคมีอนนินทรีย์ (Inorganic Chemistry), เคมีอินทรีย์ (Organic Chemistry), เคมีเชิงฟิสิกส์ (Physical Chemistry) ฯลฯ

เราจะเห็นว่ามีสารเคมีและการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างรอบตัวเราที่หากเรามีความรู้ในทางเคมี เราก็จะสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมาก เช่น ทำไมเวลาจะกินมาม่าเทน้ำร้อนแล้วจึงควรปิดชาม, เติมเกลือลงไปในน้ำแข็งแล้วทำให้น้ำหวานแข็งตัวเป็นไอติม, เลือกใช้พลาสติกอย่างไรให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องทำ, ผงชูรสลดปัญหาโรคไตได้อย่างไร, น้ำยาทำความสะอาดที่ห้ามผสมกันโดยเด็ดขาด ฯลฯ ... ถ้าเรามีองค์ความรู้ เราก็จะใช้ชีวิตได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้นแล้ว เคมีจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการเปิดบานประตูแห่งความรู้ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างดีเลยครับ